รณรงค์ป้องกันโรคไข้เลือดออก เนื่องในวันไข้เลือดออกเซียน
โพสเมื่อ : วันที่ 14 มิถุนายน 2555
เอกสารแนบ :

รณรงค์ป้องกันโรคไข้เลือดออก เนื่องในวันไข้เลือดออกอาเซียน

            ด้วยกลุ่มประเทศอาเซียน 10 ประเทศ ประกอบด้วย กัมพูชา บรูไน มาเลเซีย ลาว พม่า ฟิลิปปินส์ เวียดนาม อินโดนีเซีย  สิงคโปร์ และไทย ได้มีมติร่วมกันในการแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออก ซึ่งเป็นปัญหาระดับภูมิภาค โดยกำหนดให้วันที่ 15 มิถุนายน 2554 เป็นปีแรกของการรณรงค์ในภาพอาเซียน ภายใต้หัวข้อ "ไข้เลือดออกเป็นความห่วงใยของทุกคน เป็นโรคที่ก่อให้เกิดภาระด้านเศรษฐกิจ สังคมกับชุมชน แต่สามารถป้องกันได้ในประเทศไทย โรคไข้เลือดออกสามารถพบได้ทุกกลุ่มอายุ ที่พบมากคือวัยเด็ก กลุ่มอายุ 10-14 ปี      และกลุ่มอายุ 5-9 ปี ตามลำดับ    และมีแนวโน้มพบสูงขึ้นในกลุ่มอายุ 15-24 ปี และพบผู้ป่วยมากขึ้นในช่วงฤดูฝน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม และสูงสุดประมาณเดือนกรกฎาคม ถึงเดือนสิงหาคม โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกับเครือข่ายการดำเนินงานภาคต่างๆ เผยแพร่ข่าวสารความรู้ส่งเสริมเฝ้าระวังป้องกันโรคไข้เลือดออก  

ภายใต้หัวข้อ "เก็บให้เกลี้ยง ไม่เลี้ยงยุงลาย
            ข้อมูลจากสำนักงานควบคุมโรค เขต 12 สงขลา  แจ้งว่า ในปี2555 ถึงต้นเดือนมิถุนายน ประเทศไทยมีผู้ป่วย ประมาณ 12,000 คน  ภาคใต้ประมาณ 3,000 คน จังหวัดสงขลา ประมาณ 500 คน และผู้เสียชีวิตด้วยโรคไข้เลือดออกรายล่าสุดของอำเภอหาดใหญ่  เป็นนักเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษา เมื่อวันที่ 11 มิถุนายนนี้

            ในการนี้ ทางโรงเรียนได้ดำเนินการปรับปรุงสิ่งแวดล้อมภายในโรงเรียนให้สะอาดปราศจากแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย และดูแลอย่างต่อเนื่อง  นอกจากให้ความรู้แก่นักเรียนทั้งกิจกรรมหน้าเสาธง  และในห้องเรียน  ดังนั้น เพื่อป้องกันบุตรหลานของท่านผู้ปกครอง จึงรณรงค์ เผยแพร่ข่าวสาร และสร้างความตระหนักในการดูแลสุขภาพของนักเรียน  หากป่วยมีอาการเป็นไข้สูง สงสัยว่าจะเป็นไข้เลือดออก เมื่อมีอาการร่วมดังนี้  คลื่นไส้อาเจียน  เบื่ออาหาร  หน้าแดง  อาจพบจุดเลือดที่ผิวหนัง   มักไม่ไอ  ไม่มีน้ำมูก   และกดเจ็บชายโครงด้านจวา    ต้องไปให้ถึงมือแพทย์ให้เร็วที่สุดเพื่อลดการเสี่ยงต่อการเสียชีวิต เพราะโรคไข้เลือดออกเกิดจากเชื้อไวรัส (ไวรัสเด็งกี)  ยังไม่มีวัคซีน และยารักษาโดยเฉพาะ ต้องรักษาตามอาการและขั้นตอนของแพทย์  เมื่อมีไข้ให้กินยาลดไข้ตามแพทย์สั่ง  เช็ดตัว  ให้อาหารอ่อน  ดื่มน้ำเกลือแร่  หรือน้ำผลไม้ให้ร่างกายสดชื่น  หากอาการไม่ดีขึ้น ต้องพาไปพบแพทย์โดยเร็ว ณ โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด

 

 

ไข้เลือดออกอาเซียน

๑๕  มิถุนายน  ๒๕๕๕


 

                        โรคไข้เลือดออก ก็ยังคงอยู่คู่กับคนไทยมาจนถึงปัจจุบัน และยังมีแนวโน้มระบาดมาก โดยในบางปีจำนวนผู้ป่วยทะลุไปถึงหลักแสนคน และมีจำนวนผู้เสียชีวิตหลักร้อยคน หรือในบางปีการระบาดอาจลดลงมาบ้างแต่จำนวนผู้ป่วยก็อยู่ในหลักหมื่นถึงหลายหมื่น เด็กและเยาวชนไปจนถึงวัยรุ่นยังเป็นกลุ่มเสี่ยงส่วนใหญ่ เด็กที่ชอบซุกซน เยาวชนที่เพลินอยู่กับเกมคอมพิวเตอร์ หรือวัยรุ่นที่ชอบนุ่งสั้น แต่การระมัดระวังตนเองเพียงลำพังก็  ไม่อาจจะป้องกันโรคนี้ได้มากนัก เพราะโรคนี้เกิดจากยุงลายที่จะบินไปบ้านใครก็ได้ ฉะนั้นต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจที่จะเป็นกุญแจสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จ  ประเทศในแถบร้อนชื้น หลายๆ ประเทศของเอเซียก็มีปัญหาในการควบคุมโรคนี้เช่นกันเนื่องจากมีสภาพภูมิประเทศที่เหมาะต่อการเกิดของยุงลายนั่นเอง ในปี 2554 ( ค.ศ. 2011) กลุ่มประเทศอาเซียน 10 ประเทศ จึงได้ร่วมกันกำหนดให้วันที่ 15 มิถุนายน ของทุกปีเป็น ASEAN Dengue Day   (วันไข้เลือดออกอาเซียน) และให้วันที่ 15 มิถุนายน ปีนี้ เป็นปีแรกของการรณรงค์ในภาพของความร่วมมือในระดับอาเซียน    รัฐมนตรีสาธารณสุขอินโดนีเซีย เป็นประธานจัดงานวันไข้เลือดออกอาเซียน โดยใช้คำขวัญในการรณรงค์ปีแรกว่า  "ไข้เลือดออกเป็นความห่วงใยของทุกคน เป็นโรคที่ก่อให้เกิดภาระด้านเศรษฐกิจ สังคมกับชุมชน แต่สามารถป้องกันได้ ที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนมติให้ทุกประเทศสมาชิกจัดกิจกรรมรณรงค์ป้องกันโรคไข้เลือดออก    จัดการปรับปรุงสิ่งแวดล้อมให้สะอาดปราศแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ภายใต้ Theme : Big Cleaning Day “เก็บให้เกลี้ยงไม่เลี้ยงยุงลาย” โดยมีแนวทาง 5 เก็บ คือ

เก็บ 1. เก็บขยะ เศษภาชนะขังน้ำ เช่นขวด กล่อง ถุงพลาสติก แก้วน้ำ ยางรถยนต์เก่า

ที่ทิ้งขว้างไว้ เพราะเมื่อมีฝนหรือน้ำตกค้างจะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายได้เป็นอย่างดี

เก็บ 2. เก็บกวาดบ้านให้สะอาดปลอดโปร่ง ไม่ให้เป็นแหล่งอาศัยและเกาะพักของยุงลาย

เก็บ 3. เก็บน้ำกินน้ำใช้ให้สะอาดมิดชิด โดยการปิดฝาโอ่งไม่ให้ยุงลายลงไปวางไข่

เก็บ 4. เก็บล้างภาชนะใส่น้ำ เช่นแจกัน อ่าง ถัง เพื่อขจัดไข่และลูกน้ำยุงลายทุกสัปดาห์

เก็บ 5 เก็บแล้วรวย เก็บวัสดุรีไซด์เคิลที่เหลือใช้ไปขายเป็นรายได้เสริม

                และที่สำคัญที่สุดต้องพร้อมใจกันทำอย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์    ดังนั้นกลยุทธป้องกันโรคไข้เลือดออกที่ดี คือ  “อย่าให้ยุงกัด   อย่าให้ยุงเกิด   และป้องกันอย่าให้ป่วย” 

 

 

อย่าให้ยุงเกิด

ปิดฝาโอ่ง  เก็บน้ำให้มิดชิด

เปลี่ยนน้ำ  ในแจกัน ถังเก็บน้ำในห้องน้ำทุก 7 วัน

ปล่อยปลา  กินลูกน้ำในอ่างบัว และภาชนะใส่น้ำ

ปรับปรุง    สภาพแวดล้อม ทำลายแหล่งน้ำขัง

อย่าให้ยุงกัด

  • นอนในมุ้ง  หรือห้องมุ้งลวด ทั้งกลางวันและกลางคืน
  • ทา  และจุดยากันยุง
  • สวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาวเมื่อเข้าป่า ทำสวน

 

 

วันที่   15   มิถุนายน 2555   เป็นวันไข้เลือดออกอาเซียน (ASEAN Dengue Day)

  ร่วมมือกันเก็บกวาด  ล้างภาชนะที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง “เก็บให้เกลี้ยงไม่เลี้ยงยุงลาย”

                         หมายเหตุ              สามารถหาความรู้เพิ่มเติมจากสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข  www.thaivbd.org